วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2555

Framework Management Tool Box : Performance Management , Box : Visioning ,SWOT Analysis

Framework Management Tool Box : Performance Management

Framework Management Tool Box : Performance Management
ด้าน Controlling

                  การบริหารผลงาน (Performance Management) หมายถึง ความรู้ความสามารถในการจัดระบบ การปฏิบัติงานของบุคคล ทีมงาน และองค์การ ให้สามารถเชื่อมโยง ผนึกประสาน (Cascading & Alignment) ไปในทิศทางเดียวกันกับเป้าหมายและกลยุทธ์ธุรกิจ ด้วยกระบวนการวางแผนงาน (Performance Planning and Agreement) การปฏิบัติการให้บรรลุผล (Performance Execution) การพัฒนางาน (Performance Development) การวัด ประเมินผล และให้ข้อมูลย้อนกลับ เพื่อปรับปรุงงาน (Assessment & Feed Back) อันนำไปสู่การเป็นองค์การที่มุ่งสู่ความสำเร็จ


Professional

สามารถเปรียบเทียบความแตกต่างของแนวคิด ทฤษฎี ที่ใช้ในการออกแบบระบบการบริหารผลงานและสามารถประเมินปัจจัยเอื้อต่อความสำเร็จ เพื่อใช้ในการออกแบบระบบการบริหารผลงาน ให้เกิดบูรณาการกับระบบการบริหารขององค์การได้อย่างเหมาะสม อันประกอบด้วย
-    การวางแผน กำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัด ผลงานให้มีการเชื่อมโยง ผนึกประสาน (Cascading and Alignment)ของระดับบริษัททีมงานและบุคคล โดยมีการตกลงร่วมกัน (Performance Planning and Agreement)
-       การปฏิบัติการให้บรรลุเป้าหมาย (Performance Execution)
- การพัฒนางานและการพัฒนาบุคคลให้สามารถปฏิบัติงานได้ตามแผน (Performance Development)
-    การวัด ประเมินผลและให้ข้อมูลย้อนกลับ (Assessment & Feed Back)  สามารถสอน ให้คำแนะนำ กระตุ้นให้ผู้บริหาร และพนักงานเข้าใจเห็นความสำคัญ และนำระบบบริหารผลงานไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยผู้บริหารวิเคราะห์ระบบการบริหารผลงาน เพื่อให้คำปรึกษาในการปรับปรุง การบริหารผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอำนวยการให้ระบบการบริหารผลงานให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

Senior Professional

สามารถเชื่อมโยงระบบการบริหารผลงานกับการบริหารเชิงกลยุทธ์ธุรกิจ เพื่อวางระบบการบริหารผลงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อันประกอบด้วย
-   การวางแผน กำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัด ผลงานให้มีการเชื่อมโยง ผนึกประสาน (Cascading and Alignment)ของระดับบริษัท ทีมงานและบุคคล โดยมีการตกลงร่วมกัน (Performance Planning and Agreement)
-      การปฏิบัติการให้บรรลุเป้าหมาย (Performance Execution)
- การพัฒนางานและการพัฒนาบุคคลให้สามารถปฏิบัติงานได้ตามแผน (Performance Development)
-        การวัด ประเมินผลและให้ข้อมูลย้อนกลับ (Assessment & Feed Back)
-     เสนอกลยุทธ์ในการบริหารผลงาน จัดเตรียมความพร้อม เพื่อสามารถใช้ระบบการบริหารผลงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
-       สามารถพัฒนาระบบบริหารผลงาน ที่สอดรับกับระบบการบริหารกลยุทธ์องค์การ
-    เสนอแนวความคิดและองค์ความรู้ในการพัฒนาระบบบริหารผลงานเป็นที่ยอมรับของชุมชนวิชาการบริหารผลงาน
 
Framework Management Tool Box : Visioning
ด้าน Leading

วิสัยทัศน์ (Visioning) คือ กระบวนการกลั่นกรองค่านิยม ให้เกิดความชัดเจน มุ่งเน้นในพันธกิจ และมุ่งมั่นให้บรรลุผลตามวิสัยทัศน์ ขั้นตอนสำคัญในกระบวนการสร้างวิสัยทัศน์ ประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 5 ประการ โดยเริ่มต้นจากการสร้างความชัดเจนให้กับค่านิยม การตรวจสอบสถานการณ์
ปัจจุบัน การกำหนดพันธกิจ การสร้างวิสัยทัศน์ และการลงมือปฏิบัติ ซึ่งแต่ละขั้นตอนมีรายละเอียดดังนี้

1) ค่านิยม คือ ปณิธานของหน่วยงานเพื่อการไปสู่ความสำเร็จ เป็นพื้นฐานสำคัญของวัฒนธรรมหน่วยงานซึ่งทำให้ทิศทางการดำเนินงานของบุคลากรมีทิศทางเดียวกัน และเป็นแนวทางในการปฏิบัติตน ระบบราชการใหม่ตามแผนการปฏิรูประบบบริหารภาครัฐเน้นการเป็นระบบราชการที่มีสมรรถนะสูงมีคุณภาพและคุณธรรม เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐจึงต้องเป็นผู้ที่มีทัศนคติและค่านิยมในการทำ งานที่สอดคล้องกับระบบราชการแนวใหม่ โดยมีวัฒนธรรมการทำ งานใหม่ที่เน้นความสามารถและผลงาน เน้นความสุจริต ความโปร่งใส ความรับผิดชอบค่านิยมเป็นเรื่องของจิตใจ ใจจะชื่นชอบ ซาบซึ้งและเห็นคุณค่าในสิ่งใดขึ้นกับเหตุ ปัจจัยทั้งภายในและภายนอก

รวมน้ำใจ ใฝ่คุณธรรม นำสู่ความเป็นเลิศ

เหตุปัจจัยภายใน ก็คือ “ใจ” ของเราเพียงการรับรู้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงาม อาจไม่เพียงพอ แต่หากได้คิดพิจารณาไตร่ตรองจนเข้าใจในคุณค่า และทดลองนำไปปฏิบัติ อย่างมากพอและต่อเนื่อง ใจจะซาบซึ้งในคุณค่าของสิ่งนั้นเพิ่มขึ้นโดยลำดับ ถ้าบุคลากรของหน่วยงานทุกคนศึกษาและพิจารณาไตร่ตรองถึงความสำคัญของค่านิยมตั้งใจยึดมั่นในความถูกต้อง อดทนอดกลั้นต่อปัญหาอุปสรรคทั้งปวง และเพียรพยายามปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ค่านิยมจะเจริญงอกงามขึ้นในใจของทุกคน และทำให้ยึดมั่นในค่านิยมของหน่วยงานได้ตลอดไป

เหตุปัจจัยภายนอก คือ สภาพแวดล้อม ได้แก่ ครอบครัว ญาติมิตร เพื่อนร่วมงาน กฎระเบียบและบรรยากาศในการทำงาน รวมทั้งสภาพของสังคมรอบข้าง ถ้าเหตุปัจจัยภายนอกดี ให้ความสำคัญและปกป้องเชิดชูผู้ที่ยึดมั่นในค่านิยมอย่างจริงจัง ก็จะส่งผลให้ผู้ปฏิบัติมีขวัญมีกำลังใจ และเชื่อมั่นที่จะยึดถือค่านิยมต่อไป

2) การตรวจสอบ (Scanning) คือ การวินิจฉัยสิ่งแวดล้อมทั้งภายใน และภายนอกองค์กรการสร้างความเข้าใจในสภาพแวดล้อมที่หน่วยงานอยู่เป็นส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งในการสร้างวิสัยทัศน์ ซึ่งการสำรวจสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ปัจจุบันประกอบด้วย การพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบันของหน่วยงานการพิจารณาสถานการณ์ในอดีตที่ผ่านมา การประเมินโอกาสและอุปสรรค การทำการตรวจสอบสภาวะแวดล้อม การประเมินจุดแข็ง จุดอ่อนของตน และการระบุปัญหาวิกฤติ หรือทางเลือกที่จะต้องเผชิญในอนาคต

3) พันธกิจ (Mission) คือ จุดประสงค์หลักที่หน่วยงานได้สร้างขึ้นมา โดยมีการระบุไว้อย่างชัดเจน กะทัดรัด และสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งมุ่งเน้นไปยังทิศทางใดทิศทางหนึ่ง พันธกิจของหน่วยงานนั้น คือ การรวมเอาพันธกิจส่วยตัวของบุคลากรทั้งหน่วยงานเข้าไว้ด้วยกันโดยการพิจารณาจากโครงสร้างของหน่วยงาน และภาระหน้าที่ที่แต่ละบุคคลรับผิดชอบ โดยอิงกับพื้นฐานความเป็นมาในอดีต และการคาดการณ์ไปในอนาคต และควรมีการเปรียบเทียบระหว่างมุมมองภายในหน่วยงานและมุมมองจากหน่วยงานภายนอก ซึ่งจะช่วยให้พันธกิจที่ได้มีความสอดคล้องกับสิ่งที่หน่วยงานตั้งใจไว้

4) การสร้างวิสัยทัศน์ (Visioning) คือ วิถีสู่ความเป็นเลิศซึ่งหน่วยงานต้องการสร้างสรรค์ขึ้นมา เพื่อสร้างโอกาสที่เป็นไปได้ที่ดีที่สุดสำหรับอนาคต ด้วยการสร้างภาพที่ต้องการให้เกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้เกิดการกระทำของบุคคล อันนำไปสู่ความเป็นไปได้นั้นๆ

วิสัยทัศน์ที่ทรงพลังจะต้องแสดงถึงจุดหมายปลายทาง ง่ายแก่การสื่อสารและสร้างความเข้าใจ เข้าถึงจิตวิญญาณขององค์กร แสดงถึงความขาดหายที่บุคลากรจะต้องหาสิ่งนั้นให้พบ กระชับและสามารถใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจได้ ทำให้เกิดความมุ่งมั่น อธิบายถึงอนาคตที่ต้องการและมีความหมายสามารถสร้างความรู้สึก/ประสบการณ์/ทำให้ทุกคนกระตือรือร้นที่จะปฏิบัติเมื่อได้ยินได้เห็น ทำให้ทุกคนเข้าใจได้ดียิ่งขึ้นถึงสิ่งที่ตนจะกระทำว่ามีความหมายต่อองค์การอย่างไร ก่อให้เกิดแรงกระตุ้น แม้ในยามที่ท้อแท้เป็นสิ่งที่ดูแล้วเห็นว่าเป็นไปได้ เป็นสิ่งที่ท้าทาย และต้องมีการขยายขีดความสามารถ จึงจะสามารถทำให้สำเร็จได้

5) จากวิสัยทัศน์สู่การปฏิบัติ (Implementation) ภายหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการสร้างวิสัยทัศน์แล้ว การวางแผนเพื่อการปฏิบัติจะเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการในการวิเคราะห์หาว่าหน่วยงานจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้างจึงจะบรรลุถึงวัตถุประสงค์นั้น ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยชี้หนทางที่ดีที่สุดที่จะนำเราไปสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ สิ่งที่หน่วยงานจะต้องคำนึงถึงในการนำวิสัยทัศน์ไปปฏิบัติ คือ วิธีการในการก้าวไปสู่ สถานะที่ต้องการ สิ่งที่ทำให้เราทราบว่าเราได้ถึงเป้าหมายนั้นแล้ว สิ่งที่ช่วยเหลือและขัดขวางเราจากเป้าหมาย กลยุทธ์และวิธีการที่จำเป็น สิ่งที่เราควรทำต่อหรือหยุดปฏิบัติการ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สิ่งที่จะทำให้เกิดความพยายามในการปฏิบัติ และระยะเวลาในการปฏิบัติ สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา กระบวนการในการสร้างความชัดเจนให้กับค่านิยม พันธกิจ และวิสัยทัศน์ถือเป็นภารกิจของทั้งส่วนตัวและหน่วยงาน คงไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานเป็นผู้เริ่มต้น คำตอบอยู่ที่ตัวเราว่า สิ่งที่เราต้องการให้หน่วยงานของเราเป็น ให้เป็นแรงผลักดันไปสู่การเริ่มต้นในการสร้างวิสัยทัศน์ให้แก่หน่วยงาน
 
 
Framework Management Tool Box : SWOT Analysis
ด้าน Planning


               SWOT Analysis เป็นการวิเคราะห์สภาพองค์การ หรือหน่วยงานในปัจจุบัน เพื่อค้นหาจุดแข็ง จุดเด่น จุดด้อย หรือสิ่งที่อาจเป็นปัญหาสำคัญในการดำเนินงานสู่สภาพที่ต้องการในอนาคต  

SWOT ย่อมาจาก

Strengths                       - จุดแข็งหรือข้อได้เปรียบ 
Weaknesses                – จุดอ่อนหรือข้อเสียเปรียบ
Opportunities             – โอกาสที่จะดำเนินการได้
Threats                            อุปสรรค ข้อจำกัด หรือปัจจัยที่คุกคามการดำเนินงานขององค์การ 

หลักการสำคัญของ SWOT ก็คือการวิเคราะห์โดยการสำรวจจากสภาพการณ์ ด้าน คือ สภาพการณ์ภายในและสภาพการณ์ภายนอก ดังนั้นการวิเคราะห์ SWOT จึงเรียกได้ว่าเป็นการวิเคราะห์สภาพการณ์ (situation analysis) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน เพื่อให้รู้ตนเอง (รู้เรา) รู้จักสภาพแวดล้อม (รู้เขา) ชัดเจน และวิเคราะห์โอกาส-อุปสรรค การวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายนอกและภายในองค์กร ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริหารขององค์กรทราบถึงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายนอกองค์กร ทั้งสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้วและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมทั้งผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ที่มีต่อองค์กรธุรกิจ และจุดแข็ง จุดอ่อน และความสามารถด้านต่าง ๆ ที่องค์กรมีอยู่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการกำหนดวิสัยทัศน์ การกำหนดกลยุทธ์และการดำเนินตามกลยุทธ์ขององค์กรระดับองค์กรที่เหมาะสมต่อไป

ประโยชน์ของการวิเคราะห์ SWOT
การวิเคราะห์ SWOT เป็นการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ทั้งภายนอกและภายในองค์กร ซึ่งปัจจัยเหล่านี้แต่ละอย่างจะช่วยให้เข้าใจได้ว่ามีอิทธิพลต่อผลการดำเนินงานขององค์กรอย่างไร จุดแข็งขององค์กรจะเป็นความสามารถภายในที่ถูกใช้ประโยชน์เพื่อการบรรลุเป้าหมายในขณะที่จุดอ่อนขององค์กรจะเป็นคุณลักษณะภายใน ที่อาจจะทำลายผลการดำเนินงาน โอกาสทางสภาพแวดล้อมจะเป็นสถานการณ์ที่ให้โอกาสเพื่อการบรรลุเป้าหมายองค์กรในทางกลับกันอุปสรรคทางสภาพแวดล้อมจะเป็นสถานการณ์ที่ขัดขวางการบรรลุเป้าหมายขององค์กร ผลจากการวิเคราะห์ SWOT นี้จะใช้เป็นแนวทางในการกำหนดวิสัยทัศน์ การกำหนดกลยุทธ์ เพื่อให้องค์กรเกิดการพัฒนาไปในทางที่เหมาะสม

ขั้นตอน / วิธีการดำเนินการทำ  SWOT Analysis

การวิเคราะห์ SWOT จะครอบคลุมขอบเขตของปัจจัยที่กว้างด้วยการระบุจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคขององค์กร ทำให้มีข้อมูล ในการกำหนดทิศทางหรือเป้าหมายที่จะถูกสร้างขึ้นมาบนจุดแข็งขององค์กร และแสวงหาประโยชน์จากโอกาสทางสภาพแวดล้อม และสามารถ กำหนดกลยุทธ์ที่มุ่งเอาชนะอุปสรรคทางสภาพแวดล้อมหรือลดจุดอ่อนขององค์กรให้มีน้อยที่สุดได้ ภายใต้การวิเคราะห์ SWOT นั้น จะต้องวิเคราะห์ทั้งสภาพแวดล้อมภายในและภายนอก องค์กร โดยมีขั้นตอนดังนี้

1.              การประเมินสภาพแวดล้อมภายในองค์กร
การประเมินสภาพแวดล้อมภายในองค์กร จะเกี่ยวกับการวิเคราะห์และพิจารณาทรัพยากรและความสามารถภายในองค์กร ทุก ๆ ด้าน เพื่อที่จะระบุจุดแข็งและจุดอ่อนขององค์กรแหล่งที่มาเบื้องต้นของข้อมูลเพื่อการประเมินสภาพแวดล้อมภายใน คือระบบข้อมูลเพื่อ การบริหารที่ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งในด้านโครงสร้าง ระบบ ระเบียบ วิธีปฏิบัติงาน บรรยากาศในการทำงานและทรัพยากรในการบริหาร (คน เงิน วัสดุ การจัดการ) รวมถึงการพิจารณาผลการดำเนินงานที่ผ่านมาขององค์กรเพื่อที่จะเข้าใจสถานการณ์และผลกลยุทธ์ก่อนหน้านี้ด้วย
จุดแข็งขององค์กร (S-Strengths) เป็นการวิเคราะห์ปัจจัยภายในจากมุมมองของผู้ที่อยู่ภายในองค์กรนั้นเองว่าปัจจัยใดภายในองค์กรที่เป็นข้อได้เปรียบหรือจุดเด่นขององค์กรที่องค์กรควรนำมาใช้ในการพัฒนาองค์กรได้ และควรดำรงไว้เพื่อการ เสริมสร้างความเข็มแข็งขององค์กร 
จุดอ่อนขององค์กร (W-Weaknesses) เป็นการวิเคราะห์ ปัจจัยภายในจากมุมมองของผู้ที่อยู่ภายในจากมุมมอง ของผู้ที่อยู่ภายในองค์กรนั้น ๆ เองว่าปัจจัยภายในองค์กรที่เป็นจุดด้อย ข้อเสียเปรียบขององค์กรที่ควรปรับปรุงให้ดีขึ้นหรือขจัดให้หมดไป อันจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กร

                2. การประเมินสภาพแวดล้อมภายนอกองค์กร
ภายใต้การประเมินสภาพแวดล้อมภายนอกองค์กรนั้น สามารถค้นหาโอกาสและอุปสรรคทางการดำเนินงานขององค์กรที่ได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจทั้งในและระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการดำเนินงานขององค์กร เช่น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นโยบาย การเงิน การงบประมาณ สภาพแวดล้อมทางสังคม เช่น ระดับการศึกษาและอัตรารู้หนังสือของประชาชน การตั้งถิ่นฐานและการอพยพของประชาชน ลักษณะชุมชน ขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม ความเชื่อและวัฒนธรรม สภาพแวดล้อมทางการเมือง เช่น พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา มติคณะรัฐมนตรี และสภาพแวดล้อมทางเทคโนโลยี หมายถึงกรรมวิธีใหม่ๆและพัฒนาการทางด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและให้บริการ 
โอกาสทางสภาพแวดล้อม (O-Opportunities) เป็นการวิเคราะห์ว่าปัจจัยภายนอกองค์กร ปัจจัยใดที่สามารถส่งผลกระทบประโยชน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการดำเนินการขององค์กรในระดับมหาภาค และองค์กรสามารถฉกฉวยข้อดีเหล่านี้มาเสริมสร้างให้ หน่วยงานเข็มแข็งขึ้นได้
อุปสรรคทางสภาพแวดล้อม (T-Threats) เป็นการวิเคราะห์ว่าปัจจัยภายนอกองค์กรปัจจัยใดที่สามารถส่งผลกระทบในระดับมหภาคในทางที่จะก่อให้เกิดความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งองค์กรจำต้องหลีกเลี่ยง หรือปรับสภาพองค์กรให้มี ความแข็งแกร่งพร้อมที่จะเผชิญแรงกระทบดังกล่าวได้

3. ระบุสถานการณ์จากการประเมินสภาพแวดล้อม
เมื่อได้ข้อมูลเกี่ยวกับ จุดแข็ง-จุดอ่อน โอกาส-อุปสรรค จากการวิเคราะห์ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกด้วยการประเมินสภาพ แวดล้อมภายในและสภาพแวดล้อมภายนอกแล้ว ให้นำจุดแข็ง-จุดอ่อนภายในมาเปรียบเทียบกับ โอกาส-อุปสรรค จากภายนอกเพื่อดูว่าองค์กร กำลังเผชิญสถานการณ์เช่นใดและภายใต้สถานการณ์ เช่นนั้น องค์กรควรจะทำอย่างไร โดยทั่วไป ในการวิเคราะห์ SWOT ดังกล่าวนี้ องค์กร จะอยู่ในสถานการณ์ รูปแบบดังนี้                   
3.1 สถานการณ์ที่ 1 (จุดแข็ง-โอกาส) สถานการณ์นี้เป็นสถานการณ์ที่พึ่งปรารถนาที่สุด เนื่องจากองค์กรค่อนข้างจะมีหลายอย่าง ดังนั้น ผู้บริหารขององค์กรควรกำหนดกลยุทธ์ในเชิงรุก (aggressive - strategy) เพื่อดึงเอาจุดแข็งที่มีอยู่มาเสริมสร้างและปรับใช้และฉกฉวยโอกาสต่าง ๆ ที่เปิดมาหาประโยชน์อย่างเต็มที่
3.2 สถานการณ์ที่ 2 (จุดอ่อน-ภัยอุปสรรค) สถานการณ์นี้เป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด เนื่องจากองค์กรกำลังเผชิญอยู่กับอุปสรรคจากภายนอกและมีปัญหาจุดอ่อนภายในหลายประการ ดังนั้น ทางเลือกที่ดีที่สุดคือกลยุทธ์ การตั้งรับหรือป้องกันตัว (defensive strategy) เพื่อพยายามลดหรือหลบหลีกภัยอุปสรรค ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ตลอดจนหามาตรการที่จะทำให้องค์กรเกิดความสูญเสียที่น้อยที่สุด
3.3 สถานการณ์ที่ 3 (จุดอ่อน-โอกาส) สถานการณ์องค์กรมีโอกาสเป็นข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันอยู่หลายประการ แต่ติดขัดอยู่ตรงที่มีปัญหาอุปสรรคที่เป็นจุดอ่อนอยู่ หลายอย่างเช่นกัน ดังนั้น ทางออกคือกลยุทธ์การพลิกตัว (turnaround-oriented strategy) เพื่อจัดหรือแก้ไขจุดอ่อนภายในต่าง ๆ ให้ พร้อมที่จะฉกฉวยโอกาสต่าง ๆ ที่เปิดให้
3.4 สถานการณ์ที่ 4 (จุดแข็ง-อุปสรรค) สถานการณ์นี้เกิดขึ้นจากการที่สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินงาน แต่ตัวองค์กรมีข้อได้เปรียบที่เป็นจุดแข็งหลายประการ ดังนั้น แทนที่จะรอจนกระทั่งสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ก็สามารถที่จะเลือกกลยุทธ์การแตกตัว หรือขยายขอบข่ายกิจการ (diversification strategy) เพื่อใช้ประโยชน์จากจุดแข็งที่มีสร้างโอกาสในระยะยาวด้านอื่น ๆ แทน 

ข้อดี – ข้อเสีย ของการทำ SWOT Analysis 

ข้อดี 
เทคนิคการวิเคราะห์ SWOT ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการวิเคราะห์สถานการณ์ต่าง ๆ ทางธุรกิจและการบริหารเชิงกลยุทธ์ เนื่องจากเป็นเทคนิคที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ให้ความสะดวกเป็นอย่างมากสำหรับผู้ที่นำ SWOT มาใช้และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ด้านต่าง ๆ มากมาย เช่น
การตัดสินใจเลือกเมื่อมีทางเลือกหลาย ๆ ทาง 
การกำหนดความสำคัญก่อนหลังของเหตุการณ์ 
การบริหารความเปลี่ยนแปลงที่ต้องการให้เกิดขึ้น 
การวิเคราะห์และแก้ปัญหาในการดำเนินการ 
การวิเคราะห์โครงการเริ่มใหม่ 
การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้สูงขึ้น 
การสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ ฯลฯ 

ข้อเสีย 
การใช้ SWOT Analysis ก็มีข้อเสียอยู่ไม่น้อยเช่นกัน เมื่อเปรียบเทียบกับประโยชน์และความหลากหลายในการประยุกต์ใช้งาน เช่น
 - โอกาสผิดพลาดเกิดจาก คุณภาพของข้อมูลที่นำมาใช้วิเคราะห์ ทักษะ ประสบการณ์ และความเข้าใจในความรู้พื้นฐานของเทคนิค SWOT ของผู้วิเคราะห์
ต้องทบทวน SWOT เป็นระยะ ๆ เพื่อตรวจสอบสภาพว่า เหตุการณ์และปัจจัยต่าง ๆ ที่นำมาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐาน ยังเหมือนเดิมหรือมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้วหรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น